คลองโคกขาม

คลองโคกขาม

ตามรอยตำนาน “ พันท้ายนรสิงห์ ” สู่ละครเรื่อง “ พรหมลิขิต ” ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดเรื่องราวในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น หากแต่ยังนำผู้ชมออกไปรู้จักสถานที่ต่างๆในยุคนั้นที่เกี่ยวข้องกับตัวละครสำคัญ โดยใน EP.21 “ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ” พร้อมด้วยพระอนุชาเจ้าฟ้าพร เสด็จประพาสต้นไปยัง “คลองโคกขาม” แห่งสาครบุรี

ชวนมาทำความรู้จัก “คลองโคกขาม” แห่งสาครบุรี ว่าเป็นสถานที่มีความสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์ และปัจจุบันคือที่ใด

คลองโคกขาม

สาครบุรี คือ จังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน ซึ่งมี “คลองโคกขาม” เป็นคลองที่มีความคดเคี้ยวมาก ลักษณะเป็นโค้งข้อศอก กระแสน้ำเชี่ยวมากยากต่อการเดินเรือ ในสมัยสมเด็จพระสรรเพชรที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ เป็นกษัตริย์แห่งอยุธยา ( พ.ศ. 2246-2252 ) เสด็จประพาสต้นไปตามลำคลองโคกขามด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัยโดยมีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่ง เมื่อเรือพระที่นั่งถึงบริเวณคลองโคกขาม คลองคดเคี้ยวมากเป็นเหตุให้หัวเรือชนกิ่งไม้ใหญ่ริมคลองโคกขาม 

ทำให้โขนเรือหักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตนตามกฎมณเฑียรบาล พระเจ้าเสือทรงจำฝืนพระทัยตามพระราชกำหนดที่วางไว้จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ โดยในปัจจุบัน “ศาลพันท้ายนรสิงห์ ( ปากคลองโคกขาม )” ตั้งอยู่บริเวณปากคลองโคกขาม หมู่ 7 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ส่วน “ศาลพันท้ายนรสิงห์” จุดที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่ที่หมู่ 3

นอกจากนี้ พระเจ้าเสือทรงโปรดให้ขุดคลองลัดตัดทางคดเคี้ยวของคลองโคกขามให้ตรง โดยให้เจ้าพระยาราชสงครามเป็นแม่กองคุมไพร่พลจำนวน 3,000 คน ขุดคลองตัดจากคลองโคกขามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2248 ตรงมาเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน ขนาดคลองกว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก แล้วก็ยังมิแล้วเสร็จจนสิ้นรัชสมัย

ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ รับสั่งให้เกณฑ์ไพร่พลกว่า 30,000 นาย ช่วยกันขุดคลองต่อไปจนสำเร็จ โดยมีนายช่างชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการ เมื่อขุดเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า “คลองสนามไชย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “คลองมหาชัย” แต่บางทีชาวบ้านก็เรียกว่า “คลองถ่าน” ทั้งนี้ สำหรับละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ในตอนที่ 21 ก็หยิบยกดัดแปลงจากประวัติศาสตร์มาถ่ายทอดให้ชม ครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เสด็จประพาสคลองโคกขาม สาครบุรี นั่นเอง